ความหมายของคุณธรรมจริยธรรม
คำว่า”คุณธรรมจริยธรรม” นี้ เป็นคำที่คนส่วนใหญ่จะกล่าวควบคู่กันเสมอ จนทำให้เข้าใจผิดได้ว่า คำทั้งสองคำมีความหมายอย่างเดียวกันหรือมีความหมายเหมือนกัน แท้ที่จริงแล้วคำว่า “คุณธรรม” กับคำว่า”จริยธรรม” เป็นคำแยกออกได้ 2 คำ และมีความหมายแตกต่างกันคำว่า “ คุณ” แปลว่า ความดี เป็นคำที่มีความหมายเป็นทางนามธรรม ส่วนคำว่า “จริย” แปลว่า ความประพฤติกริยาที่ควรประพฤติเป็นคำที่มีความหมายทางรูปธรรม ดังนั้น จึงควรที่ผู้บริหารจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำสองคำนี้ให้ถ่องแท้ก่อนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2538 : 189) ให้ความหมายว่า” คุณธรรม หมายถึงสภาพคุณงามความดี”
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ยุตโต ) (2540: 14) ได้กล่าวว่าคุณธรรมเป็น ภาพของจิตใจกล่าวคือคุณสมบัติที่เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม ให้เป็นจิตใจที่สูง ประณีตและประเสริฐ เช่น
เมตตา คือ ความรักปรารถนาดี เป็นมิตร อยากให้ผู้อื่นมีความสุข
กรุณา คือ ความสงสารอยากช่วยเหลือผู้อื่นมีความสุข
มุทิตา คือ ความพลอยยินดีพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่ประสบความสำเร็จให้มีความสุขหรือก้าวหน้าในการทำสิ่งที่ดีงาม
อุเบกขา คือ การวางตัววางใจเป็นกลาง เพื่อรักษาธรรมเมื่อผู้อื่นควรจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาตามเหตุและผล
จาคะ คือ ความมีน้ำใจเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว
วศิน อินทสระ (2541: 106,113) กล่าวตามหลักจริยศาสตร์ว่า คุณธรรม คือ อุปนิสัยอันดีงามซึ่งสั่งสมอยู่ในดวงจิต อุปนิสัยอันนี้ได้มาจากความพยายามและความประพฤติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน... คุณธรรมสัมพันธ์กับหน้าที่อย่างมาก เพราะการทำหน้าที่จนเป็นนิสัย จะกลายเปํนอุปนิสัยอันดีงามที่สั่งสมในดวงจิตเป็นบารมี มีลักษณะอย่างเดียวกันนี้ ถ้าเป็นฝ่ายชั่ว เรียกว่า “อาสวะ” คือ กิเลสที่หมักหมมในดวงจิต ย้อมจิตให้เศร้าหมองเกรอะกรังด้วยความชั่วนานาประการกลายเป็นสันดานชั่ว ทำให้แก้ไขยากสอนยาก กล่าวโดยสรุป คุณธรรมคือความล้ำเลิศแห่งอุปนิสัยซึ่งเป็นผลของการการะทำหน้าที่จนกลายเป็นนิสัยนั่นเอง
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมมจิตโต) (2538: 15-16) กล่าวว่า คุณธรรมคือคุณสมบัติที่ดีของจิตใจ ถ้าปลูกฝังเรื่องคุณธรรมได้จะเป็นพื้นฐานจรรยาบรรณ... จรรยาบรรณนี้เป็นเรื่องพฤติกรรมในการที่จะพัฒนาต้องตีความออกไปว่า พฤติกรรมเหล่านี้มีพื้นฐานจากคุณธรรมข้อใด เช่น เบญจศีลเป็นจริยธรรม เบญจธรรมเป็นคุณธรรมคือ ความเมตตากรุณา ถ้ามีความเมตตากรุณาจะมีฐานของศีลข้อที่ 1 เป็นต้น ส่วนจริยธรรม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 (2538 : 216 ) ให้ความหมายว่า “จริยธรรมหมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม”
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมมจิตโต) (2535: 81-82) กล่าวว่าจริยธรรม คือ หลักแห่งความประพฤติ หรือแนวทางการปฏิบัติ หมายถึง แนวทางของการปฏิบัติ หมายถึง แนวทางของการประพฤติปฏิบัติจนให้เป็นคนดีเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและส่วนรวม
นอกจากนี้พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมมจิตโต) (2538: 2) ยังให้แนวคิดว่าจริยธรรมคือหลักแห่งความประพฤติดีงามสำหรับทุกคนในสังคม ถ้าเป็นข้อปฏิบัติทั่วไป เรียกว่าจริยธรรม ถ้าเป็นข้อควรประพฤติที่มีสาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า ศีลธรรม แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า จริยาธรรมอิงอยู่กับหลักคำสอนทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แท้ที่จริงนั้นยังหยั่งรากอยู่บนขนบธรรมเนียมประเพณี แม้นักปราชญ์คนสำคัญ เช่น อริสโตเติล คานท์ มหาตมะคานธี ก็มีส่วนสร้างจริยธรรมสำหรับเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของคนจำนวนหนึ่ง
จากทัศนะของพระเมธีธรรมภรณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าจริยธรรมไม่แยกเด็ดขาดจากศีลธรรม แต่มีความหมายกว้างกว่าศีลธรรม ศีลธรรมเป็นหลักคำสอนที่ว่าด้วยความประพฤติชอบ ส่วนจริยธรรม หมายถึง หลักแห่งความประพฤติดีประพฤติชอบอันวางรากฐานอยู่บนหลักคำสอนของศาสนา ปรัชญาและขนบธรรมเนียมประเพณี ท่านผู้นี้มองจริยธรรมในฐานะที่เป็นระบบ อันมีศีลธรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่ก็มีแนวคิดปรัชญา ค่านิยม ตลอดจนธรรมเนียมประเพณีเข้ามาเกียวข้องด้วยจากที่กล่าวมาทั้งหมดพอสรุปได้ว่า คำว่า คุณธรรม จริยธรรม สองคำนี้เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกันในด้านคุณงามความดี กล่าวคือ จริยธรรมคือความประพฤติที่ถูกต้องดีงามทั้งกายและวาจา สมควรที่บุคคลจะประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ตนเองและคนในสังคมรอบข้างมีความสุข สงบ เยือกเย็น จริยธรรมเป็นเรื่องของการฝึกนิสัยที่ดี โดยกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย ผู้มีความประพฤติดีงามอย่างแท้จริงจะต้องเป็นผู้มีความรู้สึกในด้านดีอยู่ตลอดเวลา คือ มี “คุณธรรม “ อยู๋ในจิตใจหรืออาจกล่าวได้ว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติเป็นพฤติกรรมภายนอก ส่วนคุณธรรมเป็นสภาพคุณงามความดีภายในจิตใจ ซึ่งทั้งสองส่วนต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน พฤติกรรมของคนที่แสดงออกมาทั้งทางกายและวาจานั้น ย่อมเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์และเป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจและสติปัญญา การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลจึงต้องพัฒนาทั้ง 3 ด้าน ควบคู่กันไป คือ การพัฒนาด้านสติปัญญา ด้านจิตใจและด้านพฤติกรรม
ความสำคัญของคุณธรรมจริยธรรม
คุณธรรมจริยธรรมนับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของคนทุกคนและทุกวิชาชีพ หากบุคคลใดหรือวิชาชีพใดไม่มีคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักยึดเบื้องต้นแล้วก็ยากที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จแห่งตนและแห่งวิชาชีพนั้นๆ ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือการขาดคุณธรรมจริยธรรมทั้งในส่วนบุคคลและในวิชาชีพ อาจมีผลร้ายต่อตนเอง สังคมและวงการวิชาชีพในอนาคตได้อีกด้วย ดังจะพบเห็นได้จากการเกิดวิกฤติศรัทธาในวิชาชีพหลายแขนงในปัจจุบัน ทั้งวงการวิชาชีพครู แพทย์ ตำรวจ ทหาร นักการเมืองการปกครอง ฯลฯ จึงมีคำกล่าวว่าเราไม่สามารถสร้างครูดีบนพื้นฐานของคนไม่ดี และไม่สามารถสร้างแพทย์ ตำรวจ ทหารและนักการเมืองที่ดี ถ้าบุคคลเหล่านั้นมีพื้นฐานทางนิสัยและความประพฤติที่ไม่ดี ดังพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระมหากษัตริ-ยาธิราช ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ. ศ.2525 ไว้ ดังนี้
“.....การจะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือให้เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรม ประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้น เสมือนเครื่องยนต์ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนที่ไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้ว เป็นเสมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำทางให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือ ปลอดภัย บรรลุจุดประสงค์..”
จริยธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในสังคม ที่จะนำความสุขสงบและความและความเจริญก้าวหน้ามาสู่สังคมนั้นๆ เพราะเมื่อคนในสังคมมีจริยธรรม จิตใจก็ย่อมสูงส่ง มีความสะอาด และสว่างในจิตใจ จะทำการงานใดก็ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ไมก่อให้เกิดทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นบุคคลมีคุณค่ามีประโยชน์ และสร้างสรรค์คุณงามความดี อันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต่อไป
วศิน อินทสระ (2541 : 6-9) ได้กล่าวถึงความสำคัญและประโยชน์ของจริยธรรมดังจะกล่าวโดยย่อดังนี้
1. จริยธรรมเป็นรากฐานอันสำคัญแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงและความสงบสุขของปัจเจกชน สังคมและประเทศชาติอย่างยิ่ง รัฐควรส่งเสริมประชาชนให้มีจริยธรรมเป็นอันดับแรก เพื่อให้เป็นแกนกลางของการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การเมืองการปกครอง ฯลฯ การพัฒนาที่ขาดจริยธรรมเป็นหลักยึดย่อมเกิดผลร้ายมากกว่าดี เพราะผู้มีความรู้แต่ขาดคุณธรรม ย่อมก่อให้เกิดความเสื่อมเสียได้มากกว่าผู้ด้อยความรู้ โดยท่านกล่าวว่า “ ผู้มีความรู้แต่ไม่รู้วิธีที่จะประพฤติตน ย่อมก่อให้เกิดความเสื่อมเสียได้มากกว่าผู้มีความรู้น้อย ถ้าเปรียบความรู้เหมือนดิน จริยธรรมย่อมเป็นเหมือนน้ำ ดินที่ไม่มีน้ำยึดเหนี่ยวเกาะกุมย่อมเป็นฝุ่นละอองให้ความรำคาญมากกว่าให้ประโยชน์ คนที่มีความรู้แต่ไม่มีจริยธรรมจึงมักเป็นคนที่ก่อความรำคาญหรือเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นอยู่เนืองๆ”
2. การพัฒนาบ้านเมือง ต้องพัฒนาจิตใจคนก่อน หรืออย่างน้อยก็ให้พร้อมๆไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาวิชาการอื่นๆ เพราะการพัฒนาที่ไม่มีจริยธรรมเป็นแกนนำนั้นจะสูญเปล่าและเกิดผลเสียเป็นอันมากทำให้บุคคลลุ่มหลงในวัตถุและอบายมุข การที่เศรษฐกิจต้องเสื่อมโทรม ประชาชนทุกข์ยาก เพราะคนในสังคมละเลยจริยธรรม กอบโกยทรัพย์สินเป็นประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไปขาดความเมตตาปราณี แล้งน้ำใจในการดำเนินชีวิตซึ่งกันและกัน
3. จริยธรรม มิได้หมายถึง การถือศีล กินเพล เข้าวัดฟังธรรม จำศีลภาวนา โดยไม่ช่วยเหลือทำประโยชน์ให้แก่สังคม แต่จริยธรรมหมายถึงความประพฤติ การกระทำและความคิดที่ถูกต้องเหมาะสมการทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เว้นสิ่งควรเว้น ทำสิ่งควรทำ ด้วยความฉลาดรอบคอบ รู้เหตุรู้ผลถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล ดังนั้นจะเห็นว่าจริยธรรมจึงจำเป็นและมีคุณค่าสำหรับทุกคนในทุกวิชาชีพทุกสังคม สังคมจะอยู่รอดด้วยจริยธรรม
4.การทุจริต คดโกง การเบียดเบียนกันในรูปแบบต่างๆอันเป็นเหตุให้สังคมเสื่อมโทรม มีสาเหตุมาจากการขาดจริยธรรมของคนในสังคม ทรัพยากรธรรมชาติในโลกนี้น่าจะพอเลี้ยงชาวโลกไปได้อีกนาน ถ้าชาวโลกช่วยกันละทิ้งความละโมบโลภมาก แล้วมามีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ยึดเอาจริยธรรมเป็นทางดำเนินชีวิต ไม่ใช่ยึดเอาลาภยศความมีหน้ามีตาในสังคมเป็นจุดหมาย ถ้าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นก็ถือเป็นเพียงผลพลอยได้และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประพฤติธรรม เช่น อาศัยลาภผลเป็นเครื่องมือในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อาศัยยศและความมีหน้ามีเกียรติในสังคมเป็นเครื่องมือในการจูงใจคนผู้เคารพนับถือเข้าหาธรรม
5. จริยธรรมสอนให้เราเลิกดูหมิ่นกดขี่คนจน ให้เอาใจใส่ดูแลเอื้ออาทรต่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นบุพการีของชาติ สอนให้เราถ่อมตัวเพื่อเข้าหากันได้ดีกับคนทั้งหลาย และไม่วางโตโอหังอวดดีหรือก้าวร้าวผู้อื่น สอนให้เราลดทิฏฐิมานะลงให้มากๆเพื่อจะได้มองเห็นสิ่งต่างๆตามความจริง ไม่หลงสำคัญตัวว่ารู้ดีกว่า มีความสามารถกว่าใคร ผู้นำที่มีจริยธรรมสูงย่อมเป็นที่เคารพกราบไหว้ของทั้งหลายได้อย่างสนิทใจ เราควรเลือกผู้นำที่สามารถนำความสงบสุขทางใจมาสู่มวลชนได้ด้วย เพื่อสันติสุขจะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ความแข็งแกร่งทางกำลังกายกำลังทรัพย์และอาวุธนั้น ถ้าปราศจากความแข็งแกร่งทางจริยธรรมเสียแล้ว บุคคลหรือประเทศชาติจะมั่นคงอยู่ได้ไม่นาน สังคมที่เจริญมั่นคงต้องมีจริยธรรมเป็นเครื่องรับรอบหรือเป็นแกนกลาง เหมือนถนนที่มั่นคงหรือตึกที่แข็งแรง เขาใช้คอนกรีตเสริมเหล็กแม้เหล็กจะไม่ปรากฏออกมาให้เห็นภายนอก แต่มีความสำคัญอยู่ภายในนายช่างย่อมรู้ดี ทำนองเดียวกันกับบัณฑิตย่อมมองเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าจริยธรรมมีความสำคัญในสังคมเพียงใด
จากข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พอสรุปได้ว่าคุณธรรมจริยธรรมเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคน ปัญหาของสังคมไทยที่ประสบพบเห็นอยู่ทุกวันนี้เกิดจาก “คน” ปัญหาเริ่มต้นที่ “คน” และมีผลกระทบถึง “คน “ การแก้ปัญหาสังคมไทยจึงต้องแก้ด้วย “การพัฒนาคน” เพื่อให้คนมีปัญญา มีความรู้มีคุณธรรมและมีทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะพัฒนาคนอย่างไรเพื่อให้คนมีชีวิตที่ดีงามสามารถใช้ความรู้และแก้ปัญหาได้ สร้างสรรค์ได้ ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง อยู่ในระบบการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ บริโภคผลผลิตด้วยปัญญา รู้อะไรดี อะไรชั่ว มีทัศนคติทางจริยธรรมที่เหมาะสม ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติของคนที่มีคุณธรรม การจัดการศึกษาคงต้องยึดหลักสำคัญคือ “ให้ความรู้คู่คุณธรรม “ สังคมไทยจึงจะมีสมาชิกของสังคมที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ดังคำกลอนของอำไพ สุจริตกุล (2534 : 186) กล่าวไว้ดังนี้
เมื่อความรู้ยอดเยี่ยมสูงเทียมเมฆ
แต่คุณธรรมต่ำเฉกยอดหญ้านั่น
อาจเสกสร้างมิจฉาสารพัน
ด้วยจิตอันไร้อายในโลกา
แม้คุณธรรมเยี่ยมถึงเทียมเมฆ
แต่ความรู้ต่ำเฉกเพียงยอดหญ้า
ย่อมเป็นเหยื่อทรชนจนระอา
ด้วยปัญญาอ่อนด้อยน่าน้อยใจ
หากความรู้สูงล้ำคุณธรรมเลิศ
แสนประเสริฐกอปริกิจวินิจฉัย
จะพัฒนาประชาราษฎร์ทั้งชาติไทย
ต้องฝึกให้ความรู้คู่คุณธรรม
อำไพ สุจริตกุล (2534: 186)
คุณธรรมพื้นฐานของผู้นำ
“....ในฐานที่เป็นครูอาจารย์ หัวหน้างาน
จำเป็นต้องมีความสุจริต ยุติธรรม
ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง เป็นที่พึ่ง
ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
ไม่ยอมแพ้พ่ายต่อความโลภ
ความลืมตัว ความริษยา ความแตกร้าว
ต้องมุ่งมั่นในประโยชน์อันรุ่งเรืองไพศาล
ของส่วนรวมเป็นเป้าหมาย
จึงจะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จ
และมีชื่อเสียงเกียรติคุณทุกประการ
ดังที่ปรารถนา.........”
พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
คุณธรรมพื้นฐานของผู้นำ
“... ในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ หัวหน้างาน
จำเป็นต้องมีความสุจริต ยุติธรรม
ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง เป็นที่พึ่ง
ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความโลภ
ความลืมตัว ความริษยา ความแตกร้าว
ต้องมุ่งมั่นในประโยชน์อันรุ่งเรืองไพศาล
ของส่วนรวมเป็นเป้าหมาย
จึงจะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จ
และมีชื่อเสียงเกียรติคุณทุกประการ
ดังที่ปรารถนา……”
พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น